body shaming เมื่อรูปร่างของฉันกลายเป็นเรื่องอัปยศในยุคโซเชียลมีเดีย

A A
Jun 17, 2022
Jun 17, 2022
A A

 body shaming เมื่อรูปร่างของฉันกลายเป็นเรื่องอัปยศในยุคโซเชียลมีเดีย

 

  • จากการสำรวจพบว่าเด็กที่มีน้ำหนักเกินมักถูกกลั่นแกล้งทุกวันเกี่ยวกับขนาดรูปร่างของร่างกายจนทำให้พวกเขาประสบปัญหาการเห็นคุณค่าในตัวเองลดลง ส่งผลเสียต่อรางกายและจิตใจ
  • การวิจัยพบว่าภาพต่าง ๆ ที่โชว์บน social มีผลอย่างมากต่อแนวคิดเรื่องรูปร่างที่สมบูรณ์แบบของเด็ก ๆ หรือแม้แต่คำคอมเม้นท์วิจารณ์ต่าง ๆ ก็อาจส่งผลให้คน ๆ นั้นมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรควิตกกังวลเกี่ยวกับร่างกาย (BDD) หรือโรคเกี่ยวกับการกิน (ED)
  • พ่อแม่ต้องตามเทคโนโลยีให้ทันเพื่อคุยกับลูกถึง feed ใน social media หรือแสดงให้ลูก ๆ เห็นว่ามีแอปแต่งภาพอีกมากมายที่สามารถเปลี่ยนผิวและหุ่นได้ผิดไปจากความเป็นจริงและปลูกฝังให้มีทัศนคติเชิงบวกต่อตัวเองและบอกพวกเขาว่าในโลกนี้ไม่ใช่รูปร่างเพียงแบบเดียวเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับ

 

ถ้าขาว ผอมกว่านี้คงสวย

ไปออกกำลังกายบ้างนะ

ถ้าสูงคงจะดูดีกว่านี้

กินไปเหอะ กินยังไงก็อ้วน จะกลัวอะไร

    เด็กกว่าทั่วโลกต้องเคยประสบปัญหาเรื่อง body shaming เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แดนนี โรว์แลนด์ส ผู้จัดการของ Butterfly Foundation’s national  (องค์กรเกี่ยวกับการกินผิดปกติในออสเตเรีย) กล่าวว่า เด็กจำนวนมากโดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น 50 % ของเด็กผู้หญิงก่อนวัยรุ่น (อายุ 8 ถึง 11 ปี) ไม่พอใจกับร่างกายและมีความต้องการที่จะผอมกว่าที่เป็นอยู่

การสำรวจโดย Obesity Action Coalition ในสหรัฐอเมริการายงานว่า 58% ของเด็กชายมัธยมปลายและ 63% ของเด็กหญิงมัธยมปลายที่มีน้ำหนักเกินมักถูกกลั่นแกล้งทุกวันเกี่ยวกับ body shaming เด็กวัยรุ่นมักกังวลปัญหาเรื่องรูปร่างหน้าตาซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจทำให้ประสบปัญหาการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ 

นักวิจัยจากโรงพยาบาลจิตเวชในสหรัฐอเมริกาพบว่าวัยรุ่นมีความหมกมุ่นอยู่กับความบกพร่องทางรูปลักษณ์หรือความกังวลที่เกินจริงอย่างมากเกี่ยวกับข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อย เช่น ผิวที่ไม่สม่ำเสมอ ต้นขาหรือเอวที่ใหญ่ไป จนกลายเป็นโรควิตกกังวลเกี่ยวกับร่างกาย (BDD) โรคเกี่ยวกับการกิน (ED) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคที่แพร่หลายและสูงขึ้น ที่น่าสนใจคือพบว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่นี้ไม่ได้มีน้ำหนักเกินจริง ผลการศึกษาพบว่าความกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของร่างกายอาจส่งผลเสีย หมกมุ่น และทำให้เป็นทุกข์สำหรับวัยรุ่น และทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

 

ว่าด้วยเรื่องของ body shaming เมื่อรูปร่างกลายเป็นเรื่องอัปยศในยุคโซเชียลมีเดีย

 

ในยุคที่ความงามถูกแพร่หลายกันอยู่บนจอทีวีและในโลก social เป็นเครื่องตีราคาว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ควรค่าแก่การยกย่องผ่านนิตยสารที่นำเสนอรูปร่างที่ไร้ที่ติ เนียนเรียบไร้ขน ไร้รอยแตก ไร้เซลลูไลท์ผ่านปกและภาพถ่ายแฟชั่น จึงไม่แปลกอะไรที่เด็กยุคนี้สมัยนี้หรือแม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ต้องฝ่าฟันเพื่อให้ได้การยอมรับในความงามตามแบบแผน 

 คริสซี่ กฤษณ์สิรี อดีตนักแสดง The sixth sense สื่อรักสัมผัสหัวใจ เคยเล่าในช่อง YouTube ของเธอว่าเคยลดน้ำหนักเพื่อให้ผอมในงานแสดงจนผมร่วง ประจำเดือนหายไปเกือบปี เหนื่อยง่าย ไม่กินแป้งจนกลายเป็นโรค anorexia และระบบเผาผลาญพังจากการประท้วงของร่างกาย เมื่อคริสซี่พยายามกินอาหารตามปกติส่งผลให้เธอกลายเป็นโรค Binge-Eating จนทำให้น้ำหนักพุ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 30 กิโลจนถูกพูดถึงและวิจารณ์อย่างมากในโลก social นอกจากนี้คำว่า “คริสซี่ อ้วน” แทบเป็นนามสกุลต่อท้ายของชื่อเธอไปแล้ว ซึ่งเห็นได้ว่าแค่คำพูดว่า “ผอมคือความงาม” อาจส่งผลทำร้ายสุขภาพจิตรวมไปถึงสุขภาพกายของเด็กสาวในวัย 16 ไปทั้งชีวิต

ภาพประกอบจาก The Bottom Club

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นจากผลกระทบของ body shaming กับอุดมคติด้านความงาม  ในยุคปัจจุบันที่มี Youtuber หรือ Influencer เกิดขึ้นมากมายซึ่งแบรนด์ต่าง ๆ เองต่างก็ให้คุณค่ากับความงามเหล่านั้น ทุกอย่างที่ถูกนำเสนอขึ้น Social Media กลายต้นแบบความงามที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมวัดได้จากการกดไลก์ คอมเม้นต์ หรือว่าแชร์ แล้วเราจะบอกลูก ๆ เราอย่างไรว่า สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่ความจริงเสมอไป ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการบอกลูก ๆ ถึงแอปแต่งภาพที่สามารถทำให้เอวคอด ปรับขาให้เรียว สีผิวที่สม่ำเสมอจนไม่เห็นจุดด่างดำได้ โดยพยายามสื่อให้พวกเขารู้ว่าทุกอย่างที่ทุกคนนำเสนอผ่านสื่อ social นั้นล้วนถูกปรับแต่งมาแล้ว 

ส่วนหนึ่งของการแต่งรูปเพื่อหลีกเลี่ยงการถูก body shaming

สถิติบางส่วนเกี่ยวกับสื่อและผลกระทบที่มีต่อผู้หญิง

  • กว่า 20 ปีที่แล้วที่ธุรกิจการควบคุมอาหารไม่ได้ทำกำไรอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ปัจจุบันธุรกิจนี้มีมูลค่ามากกว่า 33 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี
  • ปัญหาเรื่องความผิดปกติของการกินเพิ่มขึ้นมากกว่า 400% ตั้งแต่ปี 1970
  • มีผู้หญิงเพียง 5 %ในสหรัฐฯ เท่านั้นที่พอใจกับรูปร่าง
  • นิตยสาร Teen People ได้ทำการสำรวจและพบว่ามากกว่า 25% ของเด็กผู้หญิงที่ทำแบบสำรวจรู้สึกว่าสื่อทำให้พวกเขารู้สึกกดดันที่จะต้องมีรูปร่างที่สมส่วน
  • เด็กผู้หญิง 69% เห็นด้วยว่านางแบบที่พบในนิตยสารมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดเรื่องรูปร่างที่สมบูรณ์แบบของพวกเธอ

การวิจัยพบว่าภาพต่าง ๆ ที่โชว์บน social ที่เป็นภาพผอม ไม่มีไขมัน หรือคนที่ผอมอยู่แล้วจะยิ่งผอมลงด้วยการใช้แอปแต่งรูป ส่งผลเสียต่อความผิดปกติในการรับประทานอาหารเพราะภาพเหล่านั้นยังมาพร้อมคำแนะนำเรื่องอาหารหรือการออกกำลังกายซึ่งสามารถทำให้ผู้เสพมีความรู้สึกว่าสามารถเป็นไปตามรูปลักษณ์นี้ได้หากเพียงทำตามคำแนะนำที่ผู้โพสได้บอกไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายสำหรับวัยรุ่นที่ยังไม่รู้เท่าทัน หรือขาดการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะพ่อแม่อาจต้องตามเทคโนโลยีเพื่อคุยกับลูกถึง feed ใน social media เพื่อให้แน่ใจว่ามีข้อความที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ หรือแสดงให้ลูก ๆ เห็นว่ามีแอปแต่งภาพอีกมากมายที่สามารถเปลี่ยนผิวและหุ่นได้ผิดไปจากความเป็นจริง นอกจากนี้ยังต้องสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมในพัฒนาการทางร่างกายของลูก ว่าลูก ๆ ของคุณรู้สึกอย่างไรกับร่างกายของตัวเอง เช่น แสดงความคิดเห็นเชิงลบหรือวิจารณ์เกี่ยวกับรูปร่างของตัวเอง  หลีกเลี่ยงการพบเจอหรือร่วมกิจกรรมกับคนอื่น เปรียบเทียบรูปร่างของตนเองกับผู้อื่นบ่อยขึ้น ใช้เวลาอยู่หน้ากระจกนานขึ้น ชั่งน้ำหนักบ่อย ๆ ชดเชยการกินอาหารด้วยการออกกำลังกาย ซ่อนอาหารหรือกินอาหารอย่างลับ ๆ เพื่อไม่ให้คนอื่นรู้เพราะรู้สึกผิด

ในเมื่อเด็ก ๆ  ไม่ได้เกิดมาโดยเชื่อว่าคน “อ้วน” “ผอม” “น่าเกลียด” หรือ “สวย” สังคมต่างหากที่สอนคำพูดเหล่านั้นแก่พวเขา เราควรบอกลูกและสอนลูกถึงทัศนคติเชิงบวกต่อร่างกายของตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าต้องคิดว่าร่างกายของคุณสมบูรณ์แบบแต่ไม่ว่าสังคมจะมองเราอ้วนหรือผอมมาตรฐานความงามนั้นควรถูกสร้างขึ้นโดยตัวเองไม่ใช่สังคมตัดสิน

สร้างพลังบวกให้กับรูปร่างเริ่มต้นได้จากในบ้านและหลีกเลี่ยงการ body shaming คนอื่น

 

เปลี่ยนภาษา

แทนที่จะพูดว่า “อ้วน” หรือ “ผอม” ให้พูดเป็น “แข็งแรง” “สุขภาพดี” ชี้ให้เห็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการล้อเล่นเกี่ยวกับเรืองน้ำหนัก และถ้าลูก ๆ ของคุณพูดถึงใครบางคนในแง่นั้น ให้อธิบายอย่างใจเย็นว่าเหตุใดจึงไม่ควรพูดเช่นนั้น

 

พูดคุยเกี่ยวกับร่างกายที่เห็นในสื่อ

คนอเมริกันสามารถเห็นโฆษณาได้ 10,000 ครั้งต่อวันแต่มีเพียง 5% เท่านั้นที่มีรูปร่างเหมือนคนที่เราเห็นในโฆษณา ซึ่งเด็ก ๆ ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อสิ่งนี้และทำให้เด็กสาววัยรุ่นถึง44% เชื่อว่าตนเองมีน้ำหนักเกิน และ60%พยายามลดน้ำหนักอย่างแข็งขันแม้ว่าจะอยู่ในช่วงร่างกายปกติก็ตาม อย่างน้อยลองเปิดใจพูดกับเด็ก ๆ ในครอบครัวถึงการเพิ่ม – ลด ของน้ำหนักซึ่งเป็นไปกระบวนการธรรมชาติในการเติบโต หลีกเลี่ยงการ body shamingและพยายามบอกพวกเขาว่าในโลกนี้ไม่ใช่รูปร่างเพียงแบบเดียวเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับ รูปลักษณ์ของเราควรเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในแบบของเรา

 

ความงามไม่ใช่แค่เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก

ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์มักเชื่อมโยงถึงกัน การมั่นใจในการเป็นตัวเองก็สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีได้ในอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ความงามไม่ได้เกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้นแต่เกี่ยวข้องกับทุก ๆ อย่างเช่น การกระทำ ทัศนคติ การพูดจา และอื่น ๆ หากคุณแสดงให้ลูก ๆ เห็นว่าสามารถพบความงามในคนทุกประเภท พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะทำเช่นเดียวกัน

 

อ้างอิง
https://www.abc.net.au/everyday/daughter-body-shamed-at-school-how-to-help/100820604
https://www.abc.net.au/everyday/talking-to-daughter-about-body-editing-apps-instagram/9771928
https://psychcentral.com/health/body-shaming
https://www.obesityaction.org/resources/bullying-bullycide-and-childhood-obesity/
https://www.healthline.com/health-news/body-shaming-in-social-media
https://www.sciencedaily.com/releases/2006/06/060606224541.htm
https://bcbstnews.com/bluehealthsolutions/are-you-teaching-your-kids-to-body-shame/
https://admedia.com/media-and-body-image.php
https://www.youtube.com/watch?v=wUQ5YMTgayc&t=1084s

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS