สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา
EP.10 เหตุก่อการร้ายในโรงเรียนเป็นเรื่องใกล้ หรือไกลตัว
ภัยร้ายยังคงซ่อนอยู่ในเงามืด ความสงบที่แท้อาจเป็นคลื่นใต้น้ำ เมื่อหลายประเทศในโลกยังเจอกับวิกฤตโรคระบาด สภาวะสงคราม เศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน และข้าวของที่พุ่งสูงขึ้นทุกวันเป็นปัญหาที่เห็นได้ชัด และมีผลกระทบต่อปากท้อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุก่อการร้ายก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ควรระวัง และจับตามอง ยังคงเป็นภัยเงียบในสังคมของเราที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และไม่มีข่าวคราวเลย
จากข่าวสะเทือนใจอย่างการกราดยิงศูนย์เด็กเล็กที่หนองบัวลำภูทำให้มีคนเห็นถึงความสำคัญ และเป็นประเด็นถกเถียงกันว่าควรมีหลักสูตรการเอาตัวรอดในสถานการณ์กราดยิง หรือเหตุก่อการร้ายในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาจากกระทรวงการศึกษาเพื่อให้ความรู้กับครู และนักเรียนในการรับมือแบบเป็นรูปธรรมหรือไม่
แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีโรงเรียนไหนที่นำหลักสูตรการเอาตัวรอดเข้ามาสอนเด็กเป็นพิเศษ จากข้อมูลของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งได้โพสต์ว่าหนึ่งเดือนก่อนเกิดเหตุน่าเศร้านี้ มีโรงเรียนเพลินพัฒนาได้จัดอบรมการเอาตัวรอดจากเหตุกราดยิงโดยทีมครูฝึกจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน การฝึกนี้ได้สาธิตให้นักเรียนรู้จักกับอาวุธ เสียงจากอาวุธ การสังเกตลักษณะผู้ก่อการร้าย และฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลองแต่กระแสตอบรับไม่ค่อยดีนัก หลายเสียงบอกว่าฝึกไปทำไม ไม่ได้ใช้ มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ผ่านไปก็เกิดเหตุการณ์หนองบัวลำภูขึ้นทำให้เป็นประเด็นทางโลกออนไลน์อย่างมาก

รูปภาพจาก: dailynews
จากข้อมูลดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลกปี 2022 (Global Terrorism Index 2022) วิเคราะห์ผลกระทบของการก่อการร้ายจาก 163 ประเทศครอบคลุม 99.7% ของประชากรโลก พบว่าประเทศไทยคะแนนประเมินอยู่ในอันดับที่ 22 ดัชนีการก่อการร้ายสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 3 อันดับ นั่นหมายความว่าไทยเรายังคงน่าเป็นห่วง และได้รับผลกระทบจากเหตุก่อการร้ายค่อนข้างสูง
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข – คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ในอดีต ผู้ก่อการร้ายจะอยู่ในขบวน หรือเป็นสมาชิกของขบวนการก่อการร้ายแต่ปัจจุบันมีผู้ก่อเหตุในลักษณะเป็นผู้ปฏิบัติคนเดียว (lone actor) ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในขบวนการอย่างเต็มรูปแบบ แต่ติดตามข้อมูลของขบวนการ หรือได้รับอิทธิพลทางความคิดแล้วลุกขึ้นมาลงมือกระทำการด้วยตัวเอง”
ตัวอย่างเช่น เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมาในปีพ.ศ. 2563 หรือเหตุการณ์ที่หนองบัวลำภูเองก็เป็นในลักษณะของผู้ร้ายคนเดียวเช่นกัน ดังนั้นอาจจะอนุมานได้ว่า เหตุที่พุ่งสูงขึ้นอาจเป็นเพราะรูปแบบการก่อการร้ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากในรูปแบบขบวนการเพื่อวัตถุประสงค์อะไรสักเช่น ทางการเมือง เปลี่ยนเป็นการก่อเหตุคนเดียวจากอารมณ์ของคนร้ายมากขึ้น
แต่หากมาดูประเทศเจ้าโลกอย่างสหรัฐอเมริกาที่เคยเกิดเหตุก่อการร้ายครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 20 ปีก่อนอย่างเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล จากข้อมูลดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก (Global Terrorism Index 2022) วิเคราะห์ว่าปีนี้ การก่อการร้ายในตะวันตกลดลงอย่างมาก การโจมตีลดลงถึง 68% และสหรัฐฯ ทำคะแนนต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2011 หากนับจากปีนี้เท่ากับว่าสหรัฐฯ ควบคุมเหตุการณ์ และทำให้การก่อการร้ายลดลงได้เรื่อย ๆ กว่า 10 ปีแล้ว น่าสนใจว่าในโรงเรียนในสหรัฐฯ มีหลักสูตร หรือมาตรการใดบ้างในการเตรียมพร้อม และการตอบสนองความรุนแรงในโรงเรียน
ยกตัวอย่างหลักการของ Office of Superintendent of Public Instruction (OSPI) ในรัฐวอชิงตันมาให้อ่านกันว่าเขามีการรับมือ และให้ความสำคัญกับอะไรที่อาจนำหัวข้อ และประเด็นไปเป็นแนวทางในการปรับเข้ากับหลักสูตรของไทยเราได้ครับ
การรับมือเหตุก่อการร้าย และเตรียมพร้อมตอบสนองความรุนแรงในโรงเรียนของสหรัฐฯ จะเฝ้าระวัง และเน้นไปที่หัวข้อใหญ่หลัก ๆ คือ

สถานการณ์กราดยิง
มีการจัดอบรมการเตรียมความพร้อม และการจัดการเหตุฉุกเฉินจากการกราดยิง ฝึกให้เด็กดูสัญญาณเตือนของการกราดยิงของคนร้าย และมีศูนย์ความช่วยเหลือด้านเทคนิคของโรงเรียน (REMS TA) เข้าช่วยเหลือสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เป็นเหตุก่อการร้ายโดยเฉพาะ

ภัยคุกคามจากระเบิด
การข่มขู่วางระเบิดส่วนใหญ่จะได้รับสัญญาณทางโทรศัพท์ พบบนเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือส่งผ่านสื่อข่าวอื่นๆ โดยการติด ไปยังพื้นที่ปลอดภัยจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ โดยจะมีการจัดอบรมครู และบุคลากรในโรงเรียนในการรับมือเหตุร้าย แต่ละคนควรรู้พื้นที่ และทางหนีต่าง ๆ ในโรงเรียน และควรตรวจสอบพื้นที่รับผิดชอบที่สงสัย และคาดว่าจะมีระเบิด หากพบแล้วต้องกันพื้นที่ และไม่พยายามเข้าไปจัดการหรือเคลื่อนย้ายด้วยตนเอง และดำเนินการติดต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เพื่อแจ้งข้อมูลต่าง ๆ มีกฎหมายสำหรับผู้ข่มขู่คุกคามวางระเบิดในโรงเรียน สถานที่สาธารณะ และสถานที่ราชการคือ (RCW) 9.61.160 และมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนักเรียนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กำหนดให้ครอบครัวของผู้เยาว์ที่ส่งคำขู่วางระเบิดมาจ่ายค่าชดเชย ในเขตอำนาจศาลบางแห่งอำเภอสามารถกู้คืนค่าใช้จ่ายเหล่านั้นจากครอบครัวของผู้กระทำความผิดได้
การร่วมกลุ่มของเด็กเกเร
การปรากฏตัวของกลุ่มเด็กในชุมชนทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับยาเสพติด อาชญากรรม และความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และเด็กเหล่านี้อาจก่อเหตุในโรงเรียนได้ โดยมีข้อกฎหมายจากสภานิติบัญญัติเข้ามาดูแล จัดตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบกิจกรรมของกลุ่มผู้ใหญ่ และเยาวชนที่กำลังส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในโรงเรียน คณะทำงานจะต้องทำงานภายใต้การแนะนำของสำนักงานผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยในโรงเรียนของการสอนสาธารณะ คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยในโรงเรียนและความเป็นอยู่ของนักเรียนที่จัดตั้งขึ้นใน RCW 28A.300.635 และสมาคมนายอำเภอและหัวหน้าตำรวจ นอกจากนี้ยังคัดกรองตั้งแต่รับเข้าเรียน หากพบว่าเป็นสมาชิก และรวมกลุ่มเด็กเกเรใกล้บริเวณโรงเรียนอาจถูกพักการเรียนหรือถูกไล่ออก

การพกอาวุธ
กฎหมายของรัฐ และรัฐบาลกลางกำหนดให้เขตการศึกษาแต่ละแห่ง และโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุมัติแต่ละแห่งต้องรายงานต่อ OSPI เกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งหมดที่ทราบเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธในสถานที่เรียนโดยเฉพาะ นอกจากนี้ เขตการศึกษาของรัฐยังจำนำรายงานมากำหนดประเภทโรงเรียนตามหลัก Title IV (โรงเรียนปลอดยาและปลอดยา) และ Title X (ตัวเลือกโรงเรียนที่ไม่ปลอดภัย) ของพระราชบัญญัติการประถมศึกษาระดับมัธยมศึกษา (ESEA) ต้องรายงานจำนวนการระงับ และการไล่ออกสำหรับบางประเภทตามพฤติกรรมของนักเรียน กล่าวคือ หากนักเรียนครอบครองอาวุธปืน และอาวุธอันตรายอื่น ๆ ในบริเวณโรงเรียนถือเป็นความผิดทางอาญาร้ายแรงตาม GFSA ของรัฐบาลกลาง จะมีการพักการเรียน และไล่ออก หากมีการลงมือจะมีการบังคับใช้กฎหมายตามสมควร
ในเหตุการณ์รับมือกับเหตุก่อการร้ายอะไรก็ตาม มีมาตรการให้แต่ละโรงเรียนจะต้องมีการฝึกซ้อมอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อเดือนรวมถึงในช่วงปิดภาคฤดูร้อนด้วย นอกจากการฝึกในหัวข้อใหญ่ ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นยังมีการฝึกพื้นฐานคือ
- การฝึกซ้อม Lockdown (วิ่ง-ซ่อน-ต่อสู้) คือ การฝึกอพยพนักเรียน หลบภัยในที่ปลอดภัย ล็อกประตู กำหนดให้นักเรียนต้องอยู่ในพื้นที่อย่างเงียบ ๆ และเทคนิคการเบี่ยงเบนความสนใจหากพบกับผู้ก่อการร้าย

- Shelter-in-Place คือการอบรมเพื่อหาพื้นที่หลบภัยที่เหมาะสมกับสถานการณ์ จำกัดไม่ให้นักเรียน และบุคลากรสัมผัสกับวัตถุอันตราย เช่น สารเคมี สารชีวภาพ หรือสารปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม
- เหตุการณ์แผ่นดินไหว คือการฝึกฝนรับมือแผ่นดินไหวโดยเฉพาะ คือ “วาง กำบัง และถือ
เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกันเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารโรงเรียนในการประเมินภัยคุกคาม และอันตรายที่น่าจะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนของพวกเขามากที่สุดก่อนจัดทำแผนของการฝึกซ้อมที่จำเป็นแต่ละครั้ง ประสานงานกับหน่วยดับเพลิงในพื้นที่ และหน่วยกู้ภัยฉุกเฉิน

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลสภาพจิตใจของ บุคลากร ครู นักเรียน และผู้ปกครองหลังจากเจอเหตุการณ์ร้ายโดยเฉพาะอย่าง การปฐมพยาบาลทางจิตวิทยาสำหรับโรงเรียน (PFA-S) ที่ช่วยลดความทุกข์ให้สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกที่ยากลำบากของคนที่ได้รับผลจากการก่อการร้าย และช่วยนักเรียนสามารถเผชิญปัญหา จัดการกับความกลัว และความวิตกกังวล
เห็นได้ชัดว่าหลายมาตรการของสหรัฐฯ น่าเอามาไอเดียในการปรับใช้กับไทยเราหากนำมาทำเป็นหลักสูตรภาคบังคับในโรงเรียน ครอบคลุมในหลาย ๆ ด้าน และป้องกันในบางสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลให้เกิดการก่อการร้ายได้ เช่น การพกอาวุธ และเฝ้าระวังกลุ่มเด็กเกเรในชุมชน
จากข่าวเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น ยังมีความขัดแย้งและเกิดการชุมนุมทางการเมือง การจี้ปล้น คุกคาม และทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นหลายครั้งในปีนี้ เป็นที่น่าติดตามว่าเหตุเหล่านี้อาจส่งผลให้ประเทศไทยเรามีการบรรจุหลักสูตรการเอาตัวรอด หรือรับมือกับเหตุอันตรายในโรงเรียนในรูปแบบต่าง ๆ จากนโยบายการศึกษาปีหน้าหรือไม่ และควรเป็นไปในรูปแบบไหน ในความเห็นของคุณเหตุก่อการร้ายไม่ว่าจะในโรงเรียน หรือที่สาธารณะเป็นเรื่องใกล้ หรือไกลตัว และเห็นด้วยหรือไม่ที่ควรบรรจุเป็นหลักสูตรในโรงเรียน?
อ้างอิง
- https://www.k12.wa.us/student-success/health-safety/school-safety-center/
- https://www.dailynews.co.th/news/1550833/
- https://www.visionofhumanity.org/maps/global-terrorism-index/
- https://www.chula.ac.th/highlight/69826/
- https://workpointtoday.com/explainer-11-september/
- https://www.nasponline.org/about-school-psychology
- https://rems.ed.gov/K12PFAS.aspx