แพงทั้งแผ่นดิน แล้วค่าเทอมมหาวิทยาลัยจะถูกลงได้บ้างไหม

A A
Jan 20, 2022
Jan 20, 2022
A A

แพงทั้งแผ่นดิน แล้วค่าเทอมมหาวิทยาลัยจะถูกลงได้บ้างไหม

 

เริ่มต้นปีมาได้ไม่ทันไร คนไทยก็ต้องรับศึกหนักในเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน ไหนจะราคาเนื้อหมูที่สร้างประวัติศาสตร์แพงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งอาจกระทบค่าใช้จ่ายด้านอาหารของผู้คนราว 8-10% ค่าไฟฟ้า น้ำมัน แก๊สหุงต้มแห่กันปรับราคาขึ้น เป็นผลมาจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น จนคาดการณ์กันว่าเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ 1.7% เมื่อค่าครองชีพแพงขนาดนี้ก็น่าตั้งคำถามว่าจะมีอะไรที่ถูกลงสวนกระแสได้บ้าง อย่างเรื่องค่าเทอมมหาวิทยาลัยที่ถ้าไม่มีวิกฤตโควิดเข้ามาซะก่อน เป็นไปได้ไหมที่เราจะทำให้มันถูกลง เพื่อให้คนอีกหลายล้านคนทั่วโลกได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้น

Adrian K.Haugabrook นักการศึกษาและผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกาเสนอไอเดีย
ลดค่าเทอมมหาวิทยาลัยไว้บนเวที Ted Talk หัวข้อ ‘3 ways to lower the barriers to higher education’ ทำไมประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เราควรพูดถึง นั่นก็เพราะค่าเทอมที่ถูกลงก็หมายความว่าจะมีคนอีกจำนวนมากได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัย ข้อมูลพบว่าผู้คนทั่วโลกน้อยกว่า 7% มีใบปริญญา มีคนจำนวนมากที่อยากเรียนต่อ แต่มีอุปสรรคหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือค่าเทอม การเรียนต่อปริญญาตรี 4 ปี ในอเมริกามีค่าใช้จ่ายมากกว่า 100,000 ดอลลาร์ แถมยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

ในบ้านเราเองค่าเทอมคณะที่ถูกที่สุดของจุฬาฯ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาลจะเริ่มต้นที่ 21,000 บาท คิดเป็นเกือบ 170,000 ตลอดหลักสูตร 4 ปี แน่นอนถ้าเป็นคณะในสายวิทย์ หรือมหาวิทยาลัยเอกชนก็จะมีราคาที่แพงกว่านี้มาก เรียกได้ว่าหากครอบครัวไม่ได้มีฐานะปานกลางขึ้นไป ก็อาจต้องขอทุน กู้หนี้ยืมสิน หรือไม่ก็หมดโอกาสเรียนต่อไปเลย

แล้วความเป็นไปได้ที่จะลดค่าเทอมอยู่ที่ไหน Adrian เริ่มจากการยกตัวอย่างเคสพ่อของเขาว่า พ่อเพิ่งมีโอกาสได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยหลังเกษียณจากการเป็นทหารรับใช้กองทัพอากาศสหรัฐ โดยที่เพิ่งจะเรียนจบ 1 ปีก่อนที่ Adrian จะจบปริญญาตรี ด้วยความที่พ่อเป็นคนผิวดำ โอกาสที่จะได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยจึงมีน้อยกว่าคนผิวขาว สมัยนั้นโรงเรียนยังแบ่งแยกเชื้อชาติกันอยู่ ทางเลือกเดียวที่พ่อมีคือต้องอยู่ที่บ้านเกิด ไปเป็นทหาร แล้วพ่อก็ทำงานให้กับกองทัพอากาศด้วยความภาคภูมิใจถึง 20 ปี ถ้าอเมริกาไม่ได้มี GI Bill กฎหมายที่ช่วยเหลือทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่สองเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ แล้วล่ะก็ พ่อคงไม่ได้เรียนต่อ เมื่อได้สิทธิ์เข้าเรียน พ่อเรียนช่วงกลางคืนอยู่เกือบ 6 ปี ก่อนที่จะจบการศึกษาในที่สุด

เคสของพ่อเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้คนทั่วโลกที่เจอกับอุปสรรคในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย Adrian ตั้งคำถามว่าในเมื่อสถาบันอุดมศึกษาคาดหวังให้นักศึกษาเข้ามาเรียน แต่ทำไมเรากลับสร้างกำแพงขึ้นมาจนนักศึกษาบางส่วนไม่สามารถข้ามกำแพงนั้นมาได้ เขาอยากจะเห็นนักศึกษาและผู้ใหญ่วัยทำงานได้เข้าเรียน และจบการศึกษา แต่การที่เราจะทำแบบนี้ได้ เราจะต้องออกแบบสถาบันการศึกษาใหม่ทั้งหมดให้เข้าถึงนักศึกษาได้มากที่สุด และจะต้องลดค่าเทอมลงอีก ซึ่งสิ่งที่ต้องทำมาคิดมี 3 เรื่องคือ 1. เวลา 2. สถานที่ 3. วิธีการสอน

เวลา: สะสมหน่วยกิตจากประสบการณ์จริง

ในเมื่อการเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องของการเรียนรู้และการสร้างความเชี่ยวชาญบางอย่าง แทนที่เราจะนับหน่วยกิตในมหาวิทยาลัยอย่างเดียว ทำไมเราไม่ลองเปลี่ยนให้หน่วยกิตทางวิชาการเป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิตแทน เพราะค่าเทอมมักจะอิงตามหน่วยกิต การไปลดค่าเทอมจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่การเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว

วิธีนี้จะคล้ายๆ กับการสร้างธนาคาร แต่แทนที่จะสะสมเงิน ธนาคารนี้จะสะสมทักษะและประสบการณ์แทน สมมติเราเรียนหลักสูตรบัญชีในตอนกลางคืน เราก็ฝากไว้ในธนาคาร ถ้าเราไปฝึกงานที่บริษัทการตลาด เราก็ฝากไว้ในธนาคาร ถ้าเราทำแบบนี้ในสเกลใหญ่ได้ เราจะลดเวลาในการเรียนไปได้มาก แน่นอนว่าค่าเรียนก็จะถูกลงด้วย เพราะมหาวิทยาลัยสามารถประเมินนักศึกษาได้จากประสบการณ์ที่นักศึกษามีในขณะนั้น

เรียนออนไลน์

สถานที่: มหาวิทยาลัยคือที่ไหนก็ได้

ในแต่ละปีมหาวิทยาลัยต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากไปกับการดูแลซ่อมบำรุงสถานที่ ถ้าเราสามารถลดค่าใช้จ่ายในเรื่องทรัพย์สินลงได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่มีมหาวิทยาลัยใกล้ ๆ ให้เรียน หรือมีกำแพงด้านอารมณ์หรือวัฒนธรรมที่ทำให้ผู้เรียนหลุดออกจากสถานที่แห่งการเรียนรู้นั้น มาเป็นการให้นักศึกษาเข้าเรียนในศูนย์ชุมชนหรือโบสถ์ก็ได้ และยังคงได้รับคำแนะนำในเชิงอาชีพ การสนับสนุนจากเจ้าของธุรกิจท้องถิ่น และธุรกิจต่าง ๆ เราควรจะสามารถเอางานของนักศึกษาและประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครของพวกเขามาแปลงให้เป็นหน่วยกิตในชุมชนที่เขาเชื่อถือ สร้างให้ชุมชนนั้นงอกงามเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศการเรียนรู้สำหรับทุกคน ถ้าเราทำแบบนี้ได้แสดงว่าเราเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ และเราก็จะลดค่าใช้จ่ายเรื่องสถานที่ไปได้

วิธีการสอน: ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

การสอนคือหัวใจของการเรียนรู้ แต่เรารู้ว่าการสอนเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นของการศึกษา เราจึงควรเอาครูที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุด รวมถึงเสน่ห์การสอนที่ครูเหล่านั้นมีมาสร้างห้องเรียนให้นักศึกษาเข้าถึงได้มากขึ้น เราอาจจะมีคำถามเรื่องชั้นเรียนออนไลน์ที่ใหญ่มากๆ หากนักศึกษาเรียนแล้วไม่เข้าใจหรือต้องการความช่วยเหลือจะทำอย่างไร Adrian มองว่าชั้นเรียนที่เล็กกว่าจะทำให้เกิด personalization ได้จริง แต่เราก็สามารถนำสิ่งนี้มาใช้กับการเรียนออนไลน์ได้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นแชตบอต การวิเคราะห์เชิงทำนาย หรือ AI เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกว่าเมื่อไรที่ควรให้คนจริง ๆ อย่างผู้สอนเข้ามาช่วยเหลือในสิ่งที่นักศึกษาต้องการได้อย่างทันท่วงที

วิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาโดยให้ผู้สอนทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุด สร้างแรงบันดาลใจในระดับใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการเรียนถูกลง โดยที่ยังให้การช่วยเหลือในระดับบุคคลในเวลาที่จำเป็น Adrian จึงอยากเห็นมหาวิทยาลัย บริษัท และรัฐบาล ลงทุนกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่อนุญาตให้เราเคลื่อนย้ายประสบการณ์จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ จากที่ทำงานไปห้องเรียน ข้ามขอบเขตต่าง ๆ ทักษะและความสามารถกลายเป็นเงินสำหรับแรงงานทั่วโลก ถ้าเราทำแบบนี้ได้ เราจะเห็นคนจบการศึกษาอีกหลายล้านคน หรือหลายล้านพันล้านคนในอนาคต

Google มองหาคนที่มีทักษะ ไม่ใช่ใบปริญญา

บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google เองก็กำลังทำให้การศึกษาเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้และมีราคาถูกมากขึ้น ด้วยการเน้นที่ทักษะของแรงงานมากกว่าใบปริญญา โดยรับพนักงานที่มีใบรับรองของ Google Career เข้าทำงาน โดยให้ถือว่ามีคุณสมบัติเท่าคนจบปริญญาตรี 4 ปี ซึ่งใบรับรองนี้ได้มาจากการเรียนออนไลน์ที่ Coursera ใน 5 สาขาคือ IT Support, Data Analytics, Project Management, User Experience (UX) Design และ Android Development การเรียนแบบนี้จะใช้เงินและเวลาน้อยลงมาก ผู้เรียนจ่ายค่าเรียนเดือนละ 39 ดอลลาร์ หมายความว่าค่าเรียนแบบเบ็ดเสร็จจะขึ้นอยู่กับว่าเราเรียนจบเร็วแค่ไหน และการที่จะได้ Google Career Certificates ก็เป็นไปได้ในเวลาแค่ 6 เดือนเท่านั้น

คงต้องรอดูกันต่อไปว่าในอนาคตเราจะทำให้แนวคิดของ Adrian เป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนในบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้คือเทคโนโลยีที่จะเชื่อมโยงทุกเข้าอย่างด้วยกัน ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันมีบทบาทมากขนาดไหนในช่วงที่เกิดวิกฤติโรคระบาด

อ้างอิง
https://www.ted.com/talks/adrian_k_haugabrook_3_ways_to_lower_the_barriers_to_higher_education#t-783461
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_4Jan2022.aspx
https://www.posttoday.com/economy/news/672548
https://www.triam-ent.com/ค่าเทอม-จุฬาฯ-63/
https://www.searchenginejournal.com/google-career-certificates/430608/#close

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS