Work Life Balance เป็นจริงได้หรือไม่สำหรับครูไทย
- Work-Life Balance เป็นหนึ่งในเป้าหมายการทำงานและการใช้ชีวิตของหลาย ๆ คน หนึ่งในอาชีพที่พบว่ากำลังเผชิญปัญหานี้มากที่สุด คือ อาชีพครู
- การที่มีจะมี Work-Life Balance ที่ดีได้เกิดมาจากองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งภายนอกและภายใน และหนึ่งในนั้นก็คือ ตัวเราเอง
- ผลการจัดอันดับเมืองที่มี Work-Life Balance สูงที่สุดในปี 2022 โดย Kisi พบว่า กรุงเทพติดอันดับที่ 96 จากทั้งหมด 100 อันดับ หล่นจากอันดับ 49 ในปี 2021
ในยุคนี้เรามองหาอะไรบ้างเมื่อพูดถึงชีวิตการทำงาน งานที่มั่นคง งานที่ได้ทำสิ่งที่รัก งานที่สวัสดิการดี เงินเดือนสูง หรืองานที่ไม่รบกวนชีวิตส่วนตัว คงจะเป็นเรื่องดีถ้างานที่เราทำอยู่ตอนนี้ตอบโจทย์ที่ว่านี้ได้ทั้งหมด แต่สำหรับอาชีพที่ว่ากันว่าเป็นแล้วเป็นเลยตลอดชีวิตอย่างอาชีพ “ครู” คำว่า Work-Life Balance จะเป็นสิ่งที่มีจริงได้หรือไม่สำหรับอาชีพนี้ ครูประเทศอื่นเจอปัญหานี้บ้างหรือเปล่า หรือเขาจัดการอย่างไรเพื่อทำให้ Work-Life Balance เกิดขึ้นได้จริง
เราอาจจะเคยมีคำถามว่า ทำไมบางอาชีพอย่างครูถึงหมดเวลาไปกับงานค่อนข้างมากจนแทบไม่มีเวลาส่วนตัว หลังเลิกงาน หรือมีวันหยุดเหมือนคนอื่น ทำไมถึงมีไลน์มาสั่งงาน ตามงานกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ ย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคม 2565 เราอาจจะเคยได้ยินข่าวโครงการ “ครูดีไม่มีวันลา” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง จนเกิดเป็นประเด็นคำถามจากครูในโรงเรียนดังกล่าวที่ส่วนมากไม่ค่อยเห็นด้วย โดยครูเห็นว่า ทุกคนควรลาได้ตามสิทธิ์ เช่น จำเป็นต้องพาพ่อแม่หรือลูกไปหาหมอ การลาไปทำธุระแสดงว่า ครูคนนั้นเป็นครูไม่ดีด้วยหรือเปล่า
ครูประเทศอื่นมี Work Life Balance มากแค่ไหน
ด้านครูในอเมริกาเองคำว่า Work Life Balance ดูจะเป็นเรื่องที่จับต้องได้ ครูก้อย-ดร.สุภาภรณ์ เสาร์สิงห์ ได้เล่าประสบการณ์การทำงานเป็นครูในอเมริกา ไว้ว่า ที่นั่นจะไม่มีการโทรตามกัน ไม่มีส่งข้อความในวันหยุดหรือนอกเวลางาน ทำให้ครูได้พักจริง ๆ ทุกคนจะเคารพเวลาส่วนตัวของกันและกัน ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ยากมากที่เมืองไทย
ไม่ใช่แค่ครูไทยเท่านั้นที่ดูจะประสบปัญหาปริมาณงานมากล้น ดัชนีคุณภาพชีวิตของครูอังกฤษในปี 2021 ก็พบว่า 70% ของครูและบุคลากรทางการศึกษาบอกว่า ปริมาณงาน คือ สาเหตุหลักที่ทำให้คิดจะลาออกจากงาน นอกจากนี้ บุคลากรทางการศึกษา 66% ยังบอกว่า มีปัญหาในเชิงพฤติกรรม ปัญหาด้านจิตใจและร่างกาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาด Work Life Balance ที่ดี จะเห็นได้ว่า การที่เราจะมี Work Life Balance ที่ดีได้เกิดมาจากองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งภายนอกและภายใน และหนึ่งในนั้นก็คือ ตัวเราเอง

Work Life Balance ในอาชีพครู
คำแนะนำในการสร้าง Work Life Balance ในอาชีพครู
1. ไม่เอางานกลับมาทำที่บ้าน หรือถ้าจำเป็นต้องเอากลับมาทำ ก็ไม่ควรเอามาทำในห้องนอน เพราะจะรบกวนการนอนได้
2. พยายามใช้อีเมลหรือบัญชีโซเชียลมีเดียของโรงเรียนแทนการใช้บัญชีส่วนตัว
3. ไม่ทำงานในวันหยุด ควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำก่อน
4. ลดการประชุมที่ไม่จำเป็นให้น้อยที่สุด ถ้าจำเป็นต้องประชุม พยายามทำให้เสร็จใน 30 นาที
5. การใช้นาฬิกาจับเวลา หรือการจัดตารางเวลาจะมีประสิทธิภาพกว่าการเขียน To do list
ครูสามารถใช้นาฬิกาช่วยกำหนดเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ เช่น จะตรวจงาน 20 นาที จะออกจากโรงเรียน 17.30 น. เมื่อครบกำหนดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไรค้างอยู่ ให้หยุดทันที หรือถ้าหากยังสะดวกกับการเขียน To do list อยู่ ก็ควรเขียนไว้ในโน้ตบุ๊กหรืออุปกรณ์เครื่องเดียว แทนการเขียนแล้วแปะไปทั่วโน้ตบุ๊ก เพราะทำให้ดูไม่เป็นระเบียบ และดูอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา
6. อยู่เย็นกว่าปกติเพื่อเคลียร์งาน 1 วันต่อเดือน
หากมีปัจจัยหลายอย่างทำให้ไม่สามารถทำงานเสร็จได้ทันตามกำหนด ให้กำหนดวันหนึ่งต่อเดือนไว้เป็นวันเคลียร์งานหลังเลิกงาน โดยวางแผนล่วงหน้าว่า งานไหนบ้างที่จะเก็บไว้ทำในวันนั้น
7. ไม่อ่านอีเมลหรือข้อความเรื่องงานนอกเวลางาน
ประเด็นนี้อาจต้องตกลงกับพ่อแม่ก่อนเพื่อให้เข้าใจตรงกัน เพราะทันทีที่ครูได้รับข้อความ หากเปิดอ่านถึงจะยังไม่ตอบในทันที เราก็จะเก็บเรื่องนี้มาคิดทั้งคืนอยู่ดี ทำให้รบกวนเวลาส่วนตัว ข้อมูลยังพบว่า ผู้ใหญ่ 81% ไม่เคยปิดโทรศัพท์ แม้ว่าจะอยู่บนเตียงก็ตาม งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การใช้โทรศัพท์ 1 ชั่วโมงก่อนนอน ทำให้มีแนวโน้มที่จะนอนหลับน้อยกว่า 5 ชั่วโมง เกือบ 3 เท่า ฉะนั้น หากจะตอบอีเมลหรือข้อความให้เปลี่ยนมาทำในตอนเช้าแทน
เมืองที่มี Work Life Balance สูงที่สุดในโลก
ครูแต่ละคนอาจจะมี Work-Life Balance ที่แตกต่างกันไป โรงเรียนรัฐบาลเป็นแบบหนึ่ง โรงเรียนเอกชนก็เป็นอีกแบบหนึ่ง และอีกหลายอาชีพก็อาจจะบอกเหมือนกันว่า ทุกวันนี้ก็หา Work-Life Balance ได้ยากพอ ๆ กับคนเป็นครู แล้วในแง่ภาพรวมของประเทศล่ะ กรุงเทพถือว่าเป็นเมืองที่ผู้คนมี Work-Life Balance มากแค่ไหน
ผลการจัดอันดับเมืองที่มี Work-Life Balance สูงที่สุดในปี 2022 โดย Kisi พบว่า กรุงเทพติดอันดับที่ 96 จากทั้งหมด 100 อันดับ หล่นจากอันดับ 49 ในปี 2021ซึ่งดัชนีชี้วัดนี้มีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน คือ 1. ความหนักของการทำงาน 2. สังคมและหน่วยงานต่าง ๆ 3. ความน่าอยู่ของเมือง ซึ่งในแต่ละด้านก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไป เช่น ด้านความหนักของการทำงานจะดูว่า ทำงานทางไกลได้ไหม จำนวนประชากรที่ทำงานมากเกินไปมีแค่ไหน วันหยุดขั้นต่ำกี่วัน ฯลฯ ซึ่งประเทศที่ได้ 5 อันดับ Work-Life Balance ดีที่สุด คือ 1. ออสโล (นอร์เวย์) 2.เบิร์น (สวิสเซอร์แลนด์) 3. เฮลซิงกิ (ฟินแลนด์) 4. ซูริก (สวิสเซอร์แลนด์) 5. โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก)
สำหรับกรุงเทพที่อยู่อันดับ 96 นั้น มีสัดส่วนคนที่สามารถทำงานทางไกลได้ที่ 16.84% คนทำงานหนักเกิน 15.10% มีสิทธิ์ลาพักร้อนได้ขั้นต่ำ 6 วัน โดยที่คนไทยลาหยุด 10 วัน เมื่อคิดเป็นชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์แล้ว องค์การแรงงานระหว่างประเทศรายงานว่า ในปี 2020 ประเทศไทยมีชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ 42 ชั่วโมง/สัปดาห์ ส่วนประเทศที่ทำงานหนักที่สุด คือ แทนซาเนีย อยู่ที่ 54 ชั่วโมง/สัปดาห์
สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ การทำงานมาก แปลว่า ได้งานมากด้วยหรือเปล่า งานวิจัยของ OECD พบว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การที่คนเรามีเวลาว่างมากขึ้นไม่ได้หมายความว่า จะทำให้งานแย่ลง ในทางตรงกันข้าม เราจะเห็นได้ว่า หลายประเทศในยุโรปมี GDP ที่สูง/ชั่วโมงการทำงาน จึงไม่แปลกที่ทำไมประเทศที่มี Work-Life Balance ที่ดีจะอยู่ในยุโรปเสียเยอะ ข้อมูลยังพบว่า ประเทศที่ติดอันดับทำงานหนักไม่ได้มี GDP ที่สูงเลย ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ผู้คนทำงานหนักด้วย แต่ GDP ของประเทศก็สูงตาม
ถึงเราจะรู้สึกว่า คนไทยทำงานเยอะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แถมวันลาก็ยังมีน้อย แต่ถ้ามาดูที่วันหยุดราชการของบ้านเราแล้วจะพบว่า เราอยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศที่มีวันหยุดประจำชาติเยอะที่สุดอยู่ที่ 23 วัน ซึ่ง 3 อันดับแรก คือ 1. เมียนมาร์ 61 วัน 2. รัสเซีย 38 วัน 3. อิหร่าน 27 วัน แม้ว่าวันลาโดยเฉลี่ยของคนไทยจะมีน้อย แต่เราก็ได้วันหยุดประจำชาติมาชดเชยแทน คำถามต่อไปก็คือ วันหยุด 2 แบบนี้ในความคิดของเรา มันมีความแตกต่างกันไหมในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การเดินทางออกไปพักผ่อนยังต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เมื่อเทียบกับบางประเทศอย่างเช่น สหภาพยุโรปที่กำหนดให้แรงงานใน EU มีวันลาหยุดได้ 20 วัน/ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งบางประเทศก็ได้มากกว่านั้น
แม้ว่าการจัดอันดับตามข้อมูลข้างต้นจะเป็นเพียงภาพรวมของแต่ละประเทศ ไม่ใช่เฉพาะอาชีพครูเพียงอย่างเดียว แต่ละอาชีพต่างก็มีรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ถึงจะทำอาชีพเดียวกัน แต่อยู่คนละประเทศก็อาจมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันด้วยวัฒนธรรมและระบบบางอย่าง แล้วสำหรับอาชีพครูในบ้านเราล่ะ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปกับปัญหาใหม่ ปัญหาเก่าที่ทั้งสะสมและเดินหน้าเข้ามาเรื่อย ๆ คุณคิดว่า Work-Life Balance จะเป็นจริงได้ไหมสำหรับครูไทย
อ้างอิง
https://www.matichon.co.th/social/news_3339495
https://www.educationsupport.org.uk/resources/for-individuals/guides/getting-the-right-work-Life-balance/
https://www.youtube.com/watch?v=qO3tiGn87pM
https://edcentral.uk/edblog/expert-insight/6-scientifically-proven-work-Life-balance-tips-for-teachers
https://www.getkisi.com/work-Life-balance-2022
https://amerisleep.com/blog/countries-work-Life-balance/
https://worldpopulationreview.com/country-rankings/hardest-working-countries