ความคิดสร้างสรรค์สอนกันได้ไหม

A A
Oct 25, 2023
Oct 25, 2023
A A

 

ความคิดสร้างสรรค์สอนกันได้ไหม

 

 

  • ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ แต่เหมือนกับทักษะอื่นตรงที่สามารถฝึกฝนและพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ 
  • ครูสามารถสอนความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และสอนได้หลายวิธี แต่ไม่ใช่จากการนั่งฟังครูบรรยาย หรือทำข้อสอบมาตรฐาน
  • ความคิดสร้างสรรค์เป็น Soft Skill ที่นายจ้างมองหามากที่สุด งานที่ต้องใช้ทักษะนี้มีอัตราการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

 

คุณมีความเชื่อแบบไหนระหว่าง ความคิดสร้างสรรค์เป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่ง หรือเป็นสิ่งที่เราสามารถฝึกฝนให้เกิดขึ้นได้ ถ้าคุณเคยเชื่อว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของคนทำงานศิลปะ และคนเหล่านั้นก็เกิดมาพร้อมพรสวรรค์พิเศษนี้ บางทีเราอาจต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดที่มีกับทักษะนี้ใหม่ เมื่อความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ทั้งในโลกการศึกษาและโลกธุรกิจที่หมายถึงสาขาอาชีพต่าง ๆ มากมาย คนบางคนอาจดูเหมือนเกิดมาพร้อมความคิดสร้างสรรค์ที่มากกว่าคนอื่น แต่ที่จริงแล้วมันเป็นทักษะที่สามารถสอนได้ตั้งแต่เด็กก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต ในฐานะครูหรือพ่อแม่เราจะมีวิธีพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กได้อย่างไร ลองมาดูตัวอย่างแนวทางที่ได้รับการยืนยันว่าได้ผลกัน

 

ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร

 

ถ้าถามความเห็นคน 10 คนถึงนิยามของความคิดสร้างสรรค์ เราอาจได้คำตอบที่ไม่เหมือนกัน 10 แบบ บางคนอาจมองว่า ความคิดสร้างสรรค์ คือ การคิดอะไรที่ไม่ซ้ำใคร แต่ถ้าถามนักจิตวิทยา เราจะได้คำตอบว่า มันคือความสามารถในการคิดไอเดียใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ ฉะนั้น หากเรามองในมุมเศรษฐศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์ควรเป็นทักษะสำคัญที่สุดที่เราต้องมี เพราะสามารถสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้ แต่แม้จะเป็นทักษะสำคัญในโลกการทำงาน ในสหรัฐอเมริกากลับพบว่า นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ลดลงนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา 

 

ทำไมการสอนความคิดสร้างสรรค์ถึงสำคัญ

 

ครูเคยลองถามนักเรียนไหมว่า คิดว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ ถ้าเราถามเด็กอนุบาลด้วยคำถามนี้ เด็กทุกคนจะบอกว่า “มี” แต่หากถามนักเรียนป. 5 นักเรียนที่ตอบว่า “มี” จะลดลงเหลือ 50% ถ้าถามนักเรียนม.3 นักเรียนที่ตอบว่า “มี” จะเหลือเพียง 10% เท่านั้น และจากจำนวน 10% นี้ เกือบทั้งหมดจะบอกว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คือ ศิลปินหรือคนที่ทำงานในสาขาที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์

ไม่ใช่แค่นักเรียนเท่านั้นที่มองว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของศิลปิน ครูหลายคนอาจเคยเชื่อว่า การสอนความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของวิชาศิลปะเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วความคิดสร้างสรรค์กับศิลปะไม่เหมือนกัน ชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ในทุกด้าน และมันยังเชื่อมโยงกับทุกสาขาวิชาอีกด้วย

 

 

ความคิดสร้างสรรค์กับศิลปะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ชื่อภาพ : ความคิดสร้างสรรค์

 

 

ในโลกของการทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นทักษะสำคัญอย่างยิ่ง การศึกษาของ LinkedIn ในปี 2019 ได้วิเคราะห์ทักษะทางวิชาชีพ 50,000 ทักษะพบว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็น Soft Skill ที่นายจ้างมองหามากที่สุด ซึ่งการศึกษาหลายชิ้นที่ใช้เวลานานกว่าทศวรรษก็ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพราะเครื่องจักรจะเข้ามาทำงานบางอย่างแทนในอนาคต โดยเฉพาะงานรูทีนที่ทำซ้ำ ๆ จะเป็นงานที่ค่อย ๆ หายไป ขณะที่งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่การสำรวจในกลุ่มนายจ้างเท่านั้นที่บอกว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะสำคัญสุด แต่ถ้าถามความเห็นพ่อแม่และครูอเมริกันก็พบว่า ความคิดสร้างสรรค์ติดอันดับทักษะที่มีค่าที่สุดสำหรับนักเรียนเช่นกัน 

 

เมื่อความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่มีค่า แต่การสอนทักษะนี้ให้กับเด็กอาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายในมุมมองของครูทั่วไป เพราะไม่สามารถวัดผลได้ง่ายเหมือนทักษะอื่น เช่น หากครูสอนการอ่าน ถ้าเด็กเข้าใจเรื่องราวและสามารถเขียนบทวิจารณ์สั้น ๆ ได้ก็แสดงว่า เขาบรรลุเป้าหมายที่ครูตั้งไว้ 

 

สอนความคิดสร้างสรรค์ควรเริ่มตอนไหน

 

โลกปัจจุบันต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในตลาดแรงงาน เราจึงไม่สามารถรอให้นักเรียนได้งานก่อนแล้วค่อยฝึกฝนทักษะนี้ แต่ครูควรเตรียมความพร้อม และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเริ่มได้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงม.ปลาย การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เหมือนกับการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยเวลา การที่ครูเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ทักษะนี้บ่อย ๆ จะช่วยเตรียมเด็กให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่อโลกการทำงานในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

 

ตัวอย่างวิธีสอนความคิดสร้างสรรค์

 

ความคิดสร้างสรรค์สามารถสอนได้หลายวิธี แต่ไม่ใช่จากการนั่งฟังครูบรรยาย หรือทำข้อสอบมาตรฐาน วิธีเหล่านี้เป็นหนึ่งในหลายวิธีที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่า สามารถจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ได้

 

1.Divergent Thinking (การคิดแบบอเนกนัย)

Divergent Thinking คือ ความสามารถในการคิดหาวิธีแก้ปัญหาที่หลากหลาย ซึ่งตรงข้ามกับวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องเพียงวิธีเดียว เป็นกระบวนการคิดสร้างไอเดีย โดยมองหาความเป็นไปได้ของแนวทางที่หลากหลายอย่างไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้ได้ทางออกที่มากที่สุด

 

เมื่อต้นศตวรรษที่ 21 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oklahoma เริ่มวิเคราะห์ระบบการสอนเชิงสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันจำนวนหนึ่ง เพื่อเรียนรู้ว่าโปรแกรมการฝึกอบรมแบบต่าง ๆ ช่วยส่งเสริม และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร แม้ว่าการฝึกอบรมเชิงสร้างสรรค์จะมีความแตกต่างกันในเรื่องขอบเขตและสาขา แต่นักวิจัยพบพื้นฐานบางอย่างที่มีร่วมกันในโปรแกรมฝึกอบรมความคิดสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จ นั่นคือ มีการใช้ Divergent Thinking มีหลักฐานระบุชัดเจนว่า Divergent Thinking ช่วยพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ได้ ปัจจุบันบริษัท Apple ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่ของโลกก็ใช้การคิดรูปแบบนี้ในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมของบริษัท

 

2.โมเดล Osborne-Parnes

โมเดลนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในสถานศึกษาและธุรกิจ แบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอนด้วยกัน แต่ละขั้นตอนจะนำ Divergent Thinking มาใช้เพื่อสร้างความท้าทายไอเดียที่มีอยู่   

  1. ระบุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์
  2. รวบรวมข้อมูล
  3. ทำความเข้าใจปัญหา
  4. คิดหาไอเดีย
  5. ประเมินไอเดียอย่างละเอียด
  6. สร้างแผนงานเพื่อนำแนวคิดไปใช้

 

3.พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

อาจฟังดูไม่น่าเชื่อว่า ความฉลาดทางอารมณ์ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้ ประเด็นนี้เคยมีการทดลองโดยให้เด็กเล่นวัตถุต่าง ๆ ด้วยการสัมผัสพื้นผิว ลองใช้ และจัดวางวัตถุเหล่านั้น เป็นการส่งเสริมให้เด็กใช้ความทรงจำที่เต็มไปด้วยอารมณ์ในการสำรวจไอเดียการแสดงศิลปะที่แสดงถึงธีมทางอารมณ์ที่ต่างกัน อาทิ ความสุข ความเศร้า ความโกรธ ความกลัว และความสงบ เช่น ความโกรธรู้สึกอย่างไร สีหรือพื้นผิวแบบไหนที่เกี่ยวข้องกับความโกรธ สถานการณ์ใดบ้างที่ทำให้เด็กโกรธ เด็กจะต้องคิดหาไอเดียไว้หลาย ๆ อย่างก่อนที่จะเริ่มทำงานศิลปะของตัวเอง โดยที่การอภิปรายสรุปในช่วงท้ายของ Session จะเน้นที่วิธีนำความฉลาดทางอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น จะซื้ออะไรเป็นของขวัญวันเกิดให้เพื่อน หรือเขียนเรียงความในชั้นเรียน

 

สุดท้ายแล้ว เพื่อทดสอบว่า เด็กที่เรียนคอร์สนี้ได้อะไร จึงมีการเปรียบเทียบเด็กในกลุ่มทดลองกับเด็กนอกกลุ่มทดลองด้วยการทดสอบการคิดไอเดียที่สร้างสรรค์และการค้นหาปัญหา การทดสอบทั้งหมดกำหนดให้เด็กนำสิ่งที่เรียนรู้จากคอร์สไปประยุกต์ใช้กับปัญหาต่าง ๆ ผลที่ได้พบว่า เด็กสามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้ และเกิดไอเดียใหม่ ๆ รวมถึงไอเดียการใช้สิ่งของในชีวิตประจำวันที่ต่างไปจากเดิม เช่น จะใช้หนังสือพิมพ์หรือกระดุมให้สร้างสรรค์ได้อย่างไร

 

2 เดือนหลังจบคอร์ส เด็กเหล่านี้ได้รับการทดสอบอีกครั้ง พบว่าสิ่งที่เด็กเรียนรู้จะค่อย ๆ หายไปหากไม่ได้มีการฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า หากเราอยากพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนควรมีการสอนทักษะนี้ด้วย เพราะความคิดสร้างสรรค์ก็คล้ายกับกล้ามเนื้อที่จำเป็นต้องใช้อยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนา 

 

ความเชื่อว่า คนเราเกิดมามีความคิดสร้างสรรค์มากน้อยไม่เท่ากันอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เพราะสิ่งที่สำคัญกว่า คือ การตระหนักรู้ว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ และตราบใดที่ลงมือฝึกฝน ใคร ๆ ก็สามารถพัฒนาทักษะนี้ได้ แม้เราจะเคยนิยามตัวเองว่า เป็นคนไม่มีความคิดสร้างสรรค์มาก่อนก็ตาม

 

อ้างอิง

https://bigthink.com/neuropsych/can-creativity-be-taught/

https://brilliantio.com/can-creativity-be-taught/

https://edcircuit.com/why-creativity-should-be-taught-in-schools/

https://www.edweek.org/teaching-learning/a-creativity-conundrum-can-schools-teach-students-to-innovate/2020/02

https://artofproblemsolving.com/blog/articles/can-creativity-be-taught-with-catherine-thimmesh

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/creativity-the-art-and-science/202006/creativity-can-be-taught 

https://bit.ly/3Se0gx9

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS