กีฬาในโรงเรียนควรให้ความสำคัญกับอะไร
เน้นให้เด็กได้เล่น หรือแข่งขันจริงจัง
- กีฬาในโรงเรียนมัธยมปลายมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพกาย และจิตใจของนักเรียน นอกจากนี้ ยังพบว่า การเล่นกีฬาในช่วงเวลาเรียนทำให้ผลการเรียนดีขึ้นมากกว่าการเล่นนอกเวลาเรียน
- ข้อมูลจากสถาบัน Aspen พบว่า มีนักเรียนน้อยกว่า 2 ใน 5 ที่เล่นกีฬาในโรงเรียนรัฐบาล และนักเรียนเพียง 23% เท่านั้นที่ออกกำลังกายในแต่ละวันตามระดับที่แนะนำ
- เมื่อกีฬาในโรงเรียนส่วนมากเป็นเรื่องของการแข่งขัน หรือเป็นการเล่นให้กับโรงเรียน นักเรียนอีกหลายคนจึงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โรงเรียนจึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบบางอย่างเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าถึงกีฬาได้มากขึ้น
การเล่นกีฬาในโรงเรียนอาจเป็นยาขมสำหรับเด็กบางคนไม่ต่างอะไรจากการเรียนบางวิชาที่ไม่ชอบหรือไม่ถนัด ถ้าเรามองว่าตัวเลือกสำหรับเด็กในเรื่องวิชาการมีน้อยแล้ว วิชาพละหรือการเล่นกีฬาต่าง ๆ ในโรงเรียนอาจมีทางเลือกที่น้อยกว่า เพราะด้วยจำนวนคาบที่น้อยกว่าวิชาทั่วไป แถมเด็กยังไม่สามารถเลือกเองได้ว่าอยากเล่นกีฬาอะไร ที่น่าสนใจคือการเล่นกีฬาที่ควรจะเป็นเรื่องสนุก เป็นโอกาสที่จะได้รู้จักเพื่อนใหม่ บางครั้งกลับกลายเป็นเรื่องของการแข่งขันเพราะมุมมองของผู้ใหญ่ แล้วเราควรให้ความสำคัญกับอะไรระหว่างเน้นให้เด็กได้เล่น หรือแข่งขันจริงจัง จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะสร้างโอกาสให้เด็กทุกคนได้เล่นกีฬาที่โรงเรียน หรือเรื่องนี้ยังเป็นฝันที่ไกลเกินไป
กีฬาในโรงเรียนไม่ได้เหมาะกับนักเรียนทุกคน
เรารู้กันดีกว่าการเล่นกีฬาให้ประโยชน์หลายอย่าง รายงานจากสถาบัน Aspen ระบุว่ากีฬาในโรงเรียนมัธยมปลายมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพกายและจิตใจของนักเรียน แต่ข้อมูลพบว่า
มีนักเรียนน้อยกว่า 2 ใน 5 ที่เล่นกีฬาในโรงเรียนรัฐบาล นักเรียนเพียง 23% เท่านั้นที่ออกกำลังกายในแต่ละวันตามระดับที่แนะนำ ซึ่งลดลงจาก 29% ในปี 2011 แม้ว่าในการสำรวจระดับชาติจะพบว่านักเรียน 30% มีความสนใจในกีฬาเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดระบาด คือเกือบ 2 เท่า (16%) ของคนที่มีความสนใจลดลง
แต่ทำไมเรากลับพบว่านักเรียนส่วนน้อยเท่านั้นที่เล่นกีฬา อุปสรรคของการเล่นกีฬาในโรงเรียนอยู่ที่ไหน สถาบัน Aspen ใช้เวลาในการวิจัยข้อมูล 2 ปี โดยผู้เชี่ยวชาญกว่า 60 คน เพื่อหาว่าทำอย่างไรนักเรียนทุกคนถึงจะมีโอกาสได้เล่นกีฬาที่โรงเรียน
ในสหรัฐอเมริกาพบว่ากีฬาในโรงเรียน ม.ปลาย อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับนักเรียนทุกคนสักเท่าไร เพราะส่วนมากจะกลายเป็นเรื่องของการแข่งขัน หรือเป็นการเล่นให้กับโรงเรียน สิ่งเหล่านี้ยังมีคุณค่าและสำคัญอยู่ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีนักเรียนอีกหลายคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หันมามองในบ้านเรา นักเรียนก็ไม่ได้มีทางเลือกที่จะเล่นกีฬาสักเท่าไร เพราะหลักสูตรกำหนดมาแล้วว่าระดับชั้นนี้ เทอมนี้ ต้องเรียนอะไรบ้าง ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงควรตระหนักว่านักเรียนทุกคนไม่ว่าจะมีพื้นฐานหรือความสามารถอย่างไรก็มีสิทธิ์ที่จะได้เล่นกีฬาด้วยกันทั้งนั้น เพราะกีฬาไม่เพียงช่วยให้มีร่างกายที่แข็งแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมได้เป็นอย่างดี โรงเรียนจึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบบางอย่างเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าถึงกีฬาในโรงเรียนได้มากขึ้น
1. จัดให้มีกีฬาที่สอดคล้องกับความสนใจของนักเรียน
ลองนึกดูสิว่าถ้าวันหนึ่งโรงเรียนแจกแบบสำรวจความคิดเห็นนักเรียนเกี่ยวกับความชอบด้านกีฬา ความรู้สึกของนักเรียนที่ไม่ชอบเล่นกีฬาในโรงเรียนมาก่อนจะเปลี่ยนไปขนาดไหน บางคนอาจไม่ชอบเล่นเพียงเพราะโรงเรียนบังคับให้ต้องเตะฟุตบอล ไม่เว้นแม้แต่นักเรียนหญิง ทั้งที่จริง ๆ แล้วนักเรียนคนนี้ชอบเล่นแบดมินตันมากกว่าและเล่นได้ดีด้วย
สถาบัน Aspen จึงแนะนำให้โรงเรียนทำการสำรวจความสนใจของนักเรียนประจำปีด้วยคำถามทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับความชอบด้านกีฬา เหตุผลที่จะเล่นหรือไม่เล่น ในแบบสำรวจนี้ควรมีข้อมูลสถานะความทุพพลภาพ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และระดับชั้นของนักเรียนด้วย เพราะการรู้ว่านักเรียนอยากเล่นกีฬาอะไรบ้างจะทำให้โรงเรียนสามารถปรับรูปแบบกีฬาให้ตรงกับความชอบของนักเรียนได้ง่ายขึ้น Jay Coakley นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโรราโด กล่าวว่า
กีฬาของนักเรียนทุกวันนี้กลายเป็นกีฬาสำหรับผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่มีนิยามของคำว่า “สนุก” ที่แตกต่างจากนักเรียน เหตุผลอันดับหนึ่งที่นักเรียน ม.ปลาย เล่นกีฬาคือเพราะมันสนุก เกือบ 2 ใน 3 บอกว่าเพราะจะได้เล่นกับเพื่อนและได้รู้จักเพื่อนใหม่
2. ควรมีกีฬาหลายชนิดให้เลือกเล่น
กีฬาภายในและชมรมกีฬาที่นักเรียนจัดกันเองให้ประโยชน์หลายอย่างเหมือนกับการแข่งขันกีฬาระหว่างโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ทักษะการทำงานเป็นทีม ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่ง และประโยชน์ในเชิงสุขภาพจิต แม้สิ่งเหล่านี้จะได้รับความนิยมในมหาวิทยาลัย แต่กลับไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควรในโรงเรียน ม.ปลาย
Dan Dejager เป็นครูพละที่โรงเรียนมัธยมปลาย Meraki เขาใช้วิธีการสอนโดยอิงจากความต้องการ ความสนใจ และระดับความสามารถของนักเรียน เช่น แทนที่จะสอนให้นักเรียนเต้น Line dance แบบปกติ (การเต้นเรียงเป็นแถวหลาย ๆ คน ทุกคนเต้นท่าเดียวกันไปพร้อม ๆ กัน) Dan ก็ให้นักเรียนเล่นวิดีโอเกม Just Dance ที่ผู้เล่นจะเต้นไปพร้อม ๆ กับตัวละครเสมือนจริง จะเห็นได้ว่าการออกกำลังกายจะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นกีฬาเสมอไป และเราทำให้มันสนุกขึ้นได้ถ้าไม่ยึดติดกับกรอบเดิม ๆ สถาบัน Aspen จึงแนะนำให้ครูพละและผู้อำนวยการด้านกีฬาขยายหลักสูตรหรือเชื่อมโยงนักเรียนกับสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ชมรมจักรยาน คลาสโยคะ
งานวิจัยพบว่านักเรียนมากกว่า 1 ใน 3 สนใจที่จะฝึกความแข็งแรง 1 ใน 4 อยากปั่นจักรยาน และ 1 ใน 5 ต้องการเล่นสเก็ตบอร์ด โยคะ และเต้น
3. ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้นักเรียนมากกว่าการชนะการแข่งขัน
ในโรงเรียน ม.ปลายส่วนใหญ่ กีฬาถูกมองว่ามีเป้าหมายที่แตกต่างจากเรื่องวิชาการที่เป็นเรื่องของการการศึกษา ผู้ฝึกสอนมักจะคิดว่างานหลักของตัวเองคือการคว้าแชมป์ ดังนั้น พวกเขาจะทุ่มเททรัพยากรให้กับนักกีฬาที่เก่งที่สุด ซึ่งบางครั้งก็เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนคนอื่นๆ ที่ต้องการจะเล่นกีฬาด้วย ฉะนั้น การเปลี่ยนความคิดจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก ต้องมีการพูดคุยกันว่าเป้าหมายของกีฬาในโรงเรียนคืออะไร คือการเตรียมเด็กให้พร้อมกับอาชีพกีฬาในมหาวิทยาลัย และวัดความสำเร็จเมื่อนักเรียนได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมทีมหรือได้ทุนการศึกษาหรือเปล่า หรือเราควรวัดความสำเร็จที่ตัวเลขของนักเรียนที่เล่นกีฬามากกว่า
จากการสำรวจพบว่าเมื่อนักเรียนโตขึ้น นักเรียนจำนวนมากถูกตัดออกจากกีฬาหรือเลิกเล่นกีฬา โดยเฉลี่ยแล้ว นักเรียนจะเลิกเล่นกีฬาเมื่ออายุ 11 ปี ในความเป็นจริงเด็กทุกคนไม่ว่าจะมีความสามารถในระดับใดก็ตามสามารถเล่นกีฬาได้ทั้งนั้น กีฬาไม่ได้มีไว้สำหรับเด็กที่เป็นอภิสิทธิ์ชนเพียงอย่างเดียว
4. ให้ความรู้กับผู้ฝึกสอนมากขึ้น
รายงานพบว่าผู้ฝึกสอนมักจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดความคิดของนักเรียนในเรื่องสุขภาพและการศึกษา นักเรียน 1 ใน 3 คนบอกว่าเล่นกีฬาเพราะผู้ฝึกสอนที่มีความห่วงใย อย่างไรก็ตาม ผู้ฝึกสอนหลายคนไม่ได้มีการฝึกอบรมเพิ่มเติมหลังจากได้ใบประกาศนียบัตรขั้นต้นมาแล้ว ผลสำรวจพบว่านักเรียนเกือบครึ่งเล่นกีฬาเพื่อสุขภาวะทางอารมณ์และสุขภาพจิต แต่มีแค่ 6 รัฐเท่านั้นที่กำหนดให้ผู้ฝึกสอนต้องฝึกอบรมด้านการพัฒนามนุษย์ จิตวิทยาการพัฒนา และการจัดการองค์กร
SHAPE America (The Society of Health and Physical Educators) ได้พัฒนามาตรฐานระดับชาติสำหรับผู้ฝึกสอนกีฬา อย่างแรกคือ “พัฒนาและกำหนดปรัชญาการฝึกสอนที่เน้นนักกีฬาเป็นสำคัญ” พูดง่าย ๆ คือ
ผู้ฝึกสอนกีฬาให้ความสำคัญกับโอกาสในการพัฒนานักกีฬามากกว่าการแข่งขันเพื่อชัยชนะ เพราะผู้ฝึกสอนหลายคนฝึกสอนในแบบที่ตัวเองเคยถูกสอนในฐานะนักกีฬา หากเราไม่อยากให้เป็นแบบนี้ โรงเรียนจำเป็นต้องจัดให้มีการพัฒนาทางวิชาชีพที่ช่วยให้ผู้ฝึกสอนสอนด้วยความรู้ความเข้าใจทางกายภาพ และมีทัศนคติว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนรู้
ใน 4 วิธีเหล่านี้สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับโรงเรียนคือ การจัดให้มีกีฬาที่นักเรียนสนใจมากที่สุด หากเราสามารถทำให้นักเรียนทุกคนรู้สึกสนุกที่จะได้เล่นกีฬาที่โรงเรียน ผลดีที่จะเกิดขึ้นอีกอย่างที่เราอาจไม่รู้คือ นักเรียนจะมีผลการเรียนที่ดีขึ้นด้วย เพราะงานวิจัยชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์พบว่านักเรียนที่เล่นกีฬาจะมีผลการเรียนที่ดีขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการเล่นกีฬาในระดับปานกลางในช่วงเวลาเรียน
ทีมวิจัยจาก Charles Perkins Center ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ได้รวบรวมและวิเคราะห์ผลการศึกษา 115 ชิ้นจากทั่วโลก (ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา) โดยมีนักศึกษามากกว่า 1 ล้านคนที่มีอายุระหว่าง 9-18 ปีเข้าร่วม พบว่าการเล่นกีฬาโดยรวมมีผลเชิงบวกเล็กน้อยต่อผลการเรียน นักเรียนจะมีความสัมพันธ์ที่ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นเมื่อเล่นกีฬาในช่วงเวลาเรียนในความถี่ปานกลางคือ 1-2 ชั่วโมง/สัปดาห์
ในหลักสูตรของออสเตรเลียจะกำหนดให้นักเรียนชั้นปีที่ 10 ต้องออกกำลังกายที่โรงเรียนอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ นอกจากนี้ โรงเรียนยังสนับสนุนให้นักเรียนชั้นปีที่ 11 และ 12 สามารถเข้าถึงกิจกรรมระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีทุกสัปดาห์ที่รวมทั้งกิจกรรมและการเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงอย่างหนัก ซึ่งการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ สำหรับกิจกรรมที่มีความหนักในระดับปานกลางก็ตรงกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในการสร้างสุขภาพที่แข็งแรง
ในงานวิจัยชิ้นนี้ นักวิจัยพบประโยชน์ของการเล่นกีฬา ดังนี้
1. มีผลเชิงบวกเล็กน้อยต่อผลการเรียน
2. การเล่นกีฬาในช่วงเวลาเรียนมีประโยชน์ต่อผลการเรียนมากกว่าการเล่นกีฬานอกเวลาเรียน
3. การเล่นกีฬาจะให้ประโยชน์มากที่สุดต่อผลการเรียนเมื่อเล่นในระดับปานกลาง (1-2 ชั่วโมง/สัปดาห์) เทียบกับการไม่เล่นกีฬาเลยหรือเล่นเยอะ ๆ (มากกว่า 3 ชั่วโมง/สัปดาห์)
4. การเล่นกีฬามีผลต่อคะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากกว่า เมื่อเทียบกับวิชาภาษาอังกฤษและวิชาภาษา
เมื่อสุขภาพกายและใจที่ดีมาจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โรงเรียนจึงมีบทบาทอย่างมากในการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิชาพละ หรือออกแบบกีฬาต่าง ๆ ให้โดนใจนักเรียนมากยิ่งขึ้น ถึงจะดูเป็นเรื่องที่ท้าทายในระบบการศึกษาบ้านเราอยู่สักหน่อย แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะมีคำแนะนำรวมถึงแนวทางจากหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้วอย่างชัดเจน
อ้างอิง
https://www.edweek.org/leadership/
https://www.aspeninstitute.org/publications/
https://www.sydney.edu.au/news-opinion/news/2022/02/11/